top of page

 วรรณคดีกลอนบทละครเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชรัชกาลที่ 1ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในสมัย

รัชกาลที่ 6 ให้เป็นยอดแห่งกลอนบทละครผู้อ่านไม่ได้เกิดจินตภาพเท่านั้น แต่ยังมีเนื้อหาที่ให้ข้อคิด ควรพิจารณาและนำมาเปรียบกับพฤติกรรมของคนในสังคมปัจจุบันได้ดังจะเห็นได้ว่า เมื่ออำนาจตกอยู่ในมือของคนที่ลืมตัว ก็จะเกิดผลร้ายตามมา ผู้มอบอำนาจจึงต้องพิจารณาก่อนว่าจะจำกัดขอบเขตอำนาจที่เป็นรางวัลได้อย่างไร มิฉะนั้นจะต้องมาแก้ไข
ภายหลังเพราะมองคนผิด ดังที่พระอิศวรได้ประทานรางวัลนิ้วเพชรให้นนทก

        นนทกอาจได้รับความเห็นใจเพราะถูกเทวดารังแกมาช้านานนิ้วเพชรจึงเป็นอาวุธที่นนทกสมควรจะมีไว้ป้องกันตัวและปรามไม่ให้ใครมารังแกได้อีก แต่นนทกก็มีใจกำเริบอหังการไม่ยับยั้งชั่งใจและไม่ไคร่ครวญว่าจะใช้ “นิ้วอำนาจ”นั้นอย่างไร เพียงแต่ “สัพยอกหยอกเล่นเหมือนทุกวัน” นนทกก็โกรธขึ้นมาทันที ความโกรธถึงกับฆ่าเทวดาล้มตายเป็นจำนวนมากจนพระอิศวรต้องให้พระนารายณ์ลงมาปราบ การอ่านวรรณคดีอย่างพินิจและตีความจากเรื่องรามเกียรติ์น่าจะทำให้ผู้อ่านเห็นว่าวรรณคดีมิใช่เรื่องไกลตัว แม้จะมีตัวละครและฉากอยู่ในโลกสมมุติ แต่พฤติกรรมและความคิดของตัวละครก็สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมของมนุษย์ในปัจจุบัน

        นนทกนั่งประจำอยู่ที่เชิงเขาไกรลาสมีหน้าที่ล้างเท้าให้เหล่าเทวดา ใครๆ ก็พอใจที่ได้รับบริการจากนนทก ยื่นเท้าให้ล้างแล้วยังไม่พอ ว่าง ๆ ก็ได้แหย่เย้าถอนผมนนทกเล่น นนทกแค้นใจแต่หาทางตอบโต้ไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังหรืออำนาจ จึงไปหาเจ้านาย คือ พระอิศวร แล้วร้องเรียนว่าตนทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบมาช้านานแล้ว แต่ยังไม่ได้ขอสิ่งใดเป็นรางวัลเลย วันนี้จะมาทูลขอให้มีฤทธิ์สามารถลงโทษผู้ที่มารังแกตนได้ พระอิศวร ก็ประทานให้ตามต้องการนนทกจึงมีนิ้วเพชรสามารถชี้สังหารใคร ๆได้ ไม่นานนักนนทกก็มีใจกำเริบไม่ยับยั้งชั่งใจและไม่ใคร่ครวญว่าจะใช้นิ้วเพชรนั้นเพียงไร เพียงแต่ถูกหยอกล้อเล่นเหมือนทุกวันนนทกก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาทันที เทวดาที่มายั่วแหย่นนทกถูกสังหารมากมาย ร้อนถึงพระอิศวรต้องมาแก้ที่ต้นเหตุ จึงต้องใช้ให้พระนารายณ์ลงมาปราบ

เมื่อพระนารายณ์ได้รับคำสั่งจากพระอิศวรให้มาปราบนนทก พระนารายณ์จึงคิดหาวิธีการที่จะปราบโดยคิดว่า จะแปลงกายเป็นนางรำชื่อสุวรรณอัปสร เพราะนนทกเป็นยักษ์เจ้าชู้ไม่ค่อยได้พบเห็นหญิงสาวเท่าไหร่ เพราะมัวแต่ทำงาน ความงามของนางรำที่เป็นพระนารายณ์แปลงมีการเปรียบว่า“งามองค์ยิ่งเทพอัปสร”ซึ่งเป็นที่รู้กันว่านางรำนั้นงามมากแต่นางรำตามสายตาของนนทกกลับงามยิ่งกว่าเมื่อจะเปรียบกับนางลักษมีชายาของพระนารายณ์และพระสุรัสวดีชายาของพระอิศวรหรือจะหาหญิงทั้งสามโลกคือสวรรค์ มนุษย์ และบาดาลก็ยัง “จะเอามาเปรียบไม่เทียบทัน” นั้นแสดงว่านนทกเห็นว่างามกว่าใครทั้งสิ้นพระนารายณ์แปลงร่างไปยั่วนนทกให้รำตามด้วยท่าต่าง ๆ เมื่อถึงท่าชี้นิ้วลงที่ต้นขานนทกก็ขาหักเพราะเดชนิ้วเพชรของตนเอง นางรำกลับกลายเป็นพระนารายณ์แล้วเหยียบบนอกนนทกไว้เพื่อสังหาร นนทกจึงต่อว่า พระนารายณ์ว่าเอาเปรียบมีถึงสี่มือ แต่ก็ยังไม่กล้าสู้กันซึ่ง ๆ หน้าพระนารายณ์ท้าว่าขอให้นนทกไปเกิดใหม่มีสิบหน้ายี่สิบมือและมีอาวุธพร้อมสรรพ ส่วนพระองค์จะไปเกิดเป็นมนุษย์มีเพียงสองมือ จะได้สู้กันในโลกมนุษย์อีกครั้ง นนทกลงมาเกิดเป็นทศกัณฐ์ ส่วนพระนารายณ์อวตารลงมาเกิดเป็นพระรามและได้ทำศึกกันอีกยาวนาน

กลุ่มสาระฯ
คณิตศาสตร์
ภาษาไทษ
สังคมศึกษา
ภาษาต่างประเทศ
ศิลปะ
สุขศึกษา
การงานอาชีพฯ
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
bottom of page